วันเสาร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2560

สถาบันทางสังคม

สถาบันทางสังคม

3. สถาบันทางสังคม
            เมื่อคนมาอาศัยอยู่รวมกันและสร้างความสัมพันธ์ขึ้นระหว่างกัน ความสัมพันธ์เหล่านั้นจะเชื่อโยงกันไปมาเสมือนเป็นแบบแผนที่มั่นคง  หากจัดแบ่งความสัมพันธ์เหล่านี้ออกเป็นเรื่องๆ ก็จะเห็นกลุ่มความสัมพันธ์ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน เราเรียกกลุ่มความสัมพันธ์ในเรื่องหนึ่งๆว่า “สถาบันทางสังคม(social institution)” ซึ่งจะทำหน้าที่ตอบสนองความต้องการของสมาชิกในสังคม
            สถาบันทางสังคม หมายถึง ยอดรวมของรูปแบบความสัมพันธ์ กระบวนการ และวัสดุอุปกรณ์ที่สร้างขึ้น  เพื่อสนองประโยชน์สำคัญๆทางสังคมในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ทุกสถาบันจึงมีจารีตประเพณี กฎเกณฑ์ ธรรมเนียมปฏิบัติ และวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ  ของตนเอง เช่น อาคารสถานที่ เครื่องจักรกล อุปกรณ์สื่อสาร เป็นต้น
            สถาบันทางสังคมตามนัยแห่งสังคมวิทยานั้น มิใช่จะปรากฏออกมาในรูปที่เป็นทางการ เช่น การอยู่รวมกันเป็นครอบครัวในบ้านแห่งหนึ่ง (สถาบันครอบครัว) ธนาคาร สำนักงาน ตลาดสด (สถาบันทางเศรษฐกิจ) โรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย (สถาบันการศึกษา) เท่านั้น  แต่รวมไปถึงรูปแบบที่ไม่เป็นทางการด้วย ซึ่งในแต่ละสังคม จะมีสถาบันทางสังคมที่เป็นพื้นฐาน ดังนี้
            3.1 สถาบันครอบครัว
            คือ แบบแผนพฤติกรรมของคนที่มาติดต่อเกี่ยวข้องกันในเรื่องเกี่ยวกับครอบครัวและเครือญาติ นั่นคือ คนที่เป็นญาติกันโดยสายเลือด เช่น พ่อ แม่ พี่น้อง และเป็นญาติกันทางการแต่งงาน เช่น สามีภรรยา เขยสะใภ้ หรือการรับไว้เป็นญาติ เช่น บุตรบุญธรรม เป็นต้น คนเหล่านี้จะต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์แบบแผนที่สังคมเป็นผู้กำหนดขึ้น รวมเรียกว่า “สถาบันครอบครัว”
            บทบาทและหน้าที่ของสถาบันครอบครัว คือการให้สมาชิกใหม่กับสังคม ดูแลและทำนุบำรุง รวมทั้งถ่ายทอดวัฒนธรรมให้แก่สมาชิกที่กำเนิดขึ้นมาในสังคม ตลอดจนกำหนดแนวปฎิบัติเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัว เช่น การเลือกคู่ การหมั้น การแต่งงาน เป็นต้น
            สถาบันครอบครัวเป็นสถาบันพื้นฐานแรกสุดที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของสถาบันอื่นๆ ในสังคม และทำหน้าที่อบรมขัดเกลาให้สมาชิกในครอบครัวเป็นคนดีของสังคม
            3.2 สถาบันเศรษฐกิจ
            คือ แบบแผนการคิดการกระทำเกี่ยวกับเรื่องของการผลิตสินค้า และบริการ  การจำหน่ายแจกจ่ายสินค้าและการให้บริการต่างๆ รวมทั้งการบริโภคของสมาชิกในสังคม
            สถาบันเศรษฐกิจเป็นกฎเกณฑ์ข้อบังคับที่ลูกจ้าง นายจ้าง เจ้าของโรงงาน ธนาคาร และผู้ผลิตสินค้าและบริการจะต้องปฎิบัติตาม แม้แต่ผู้ประกอบการอิสระและเกษตรกร ก็จะต้องปฎิบัติตามกฎเกณฑ์ของการประกอบอาชีพที่ดีเช่นเดียวกัน
            สถาบันเศรษฐกิจเป็นความสัมพันธ์ในแง่ของการผลิต การแลกเปลี่ยน และการบริโภค ซึ่งการปฎิสังสรรค์กันทางสังคมในแง่นี้ อาจเป็นความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัว และญาติ หรือกับบุคคลอื่น ทั้งที่อาศัยอยู่ในสังคมเดียวกัน หรือต่างสังคมกันได้
            บทบาทและหน้าที่ของสถาบันเศรษฐกิจ คือ สร้างแบบแผนและเกณฑ์ในการผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐาน  กำหนดกลไกราคาที่เหมาะสม รวมทั้งผลิตเครื่องอุปโภคและบริโภคและเทคโนโลยี ซึ่งคนๆ เดียวมาสามารถที่จะกระทำหรือผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการได้ทั้งหมด จึงต้องพึ่งพาอาสัยคนอื่นให้ช่วยทำให้ได้ผลผลิตที่เป็นอาหารและของใช้  ส่งผลให้คนเราต้องมีความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ และภายหลังที่ผลิตขึ้นมาได้แล้วก็จำเป็นต้องนำไปแลกเปลี่ยนกับของชนิดอื่นที่เราไม่ได้ทำขึ้นเอง  กระบวนการแลกเปลี่ยนจึงเป็นหัวใจสำคัญของความสัมพันธ์ของคนในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยุคปัจจุบันที่มีการผลิตสินค้าและบริการจำนวนมาก
            3.3 สถาบันการเมืองการปกครอง
            คือแบบแผนการคิดการกระทำที่จะแตกต่างกันออกไปในแต่ละสังคมโดยขึ้นอยู่กับปรัชญาความเชื่อพื้นฐานของคนในสังคมว่าต้องการจะให้เป็นแบบเสรีประชาธิไตย หรือแบบสมบูรณาญาสิทธิราช หรือแบบคอมมิวนิสต์ เมื่อได้เลือกรูปแบบการปกครองแล้วก็ต้องจัดการบริหารการปกครองให้เป็นไปตามปรัชญาการเมืองแบบนั้นๆตามแนวทางที่เห็นว่าถูกต้องและเหมาะสม
            บทบาทและหน้าที่ของสถาบันการเมืองการปกครองที่สำคัญ คือ การรักษาความมั่นคงปลอดภัยของชาติ บำบัดทุกข์บำรุงสุขให้ราษฎร สร้างความมั่นคงและรักษาสิทธิประโยชน์ของประเทศชาติ รวมทั้งสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยจะครอบคลุมทั้งในระดับชาติ และระดับท้องถิ่น ซึ่งบางส่วนจะทำหน้าที่ในการตรากฎหมายและกฎระเบียบข้อบังคับและบางส่วนจะทำหน้าที่บริหารงาน เพื่อให้สังคมดำรงอยู่และพัฒนาต่อไปได้ โดยในระดับชาติ เช่น นักการเมือง นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ผู้พิพากษา เป็นต้น และในระดับท้องถิ่น เช่น ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล เป็นต้น
            3.4 สถาบันการศึกษา 
            สถาบันการศึกษา คือ แบบแผนของการคิดและกระทำที่เกี่ยวข้องกับการอบรมให้การศึกษาแก่สมาชิกใหม่ของสังคม รวมทั้งถ่ายทอดวัฒนธรรมจากคนรุ่นหนึ่งไปยังอีกรุ่นหนึ่งด้วย สถาบันทางการศึกษาเป็นสถาบันที่ครอบคลุมในเรื่องที่เกี่ยวกับหลักสูตร การสอบเข้า การเรียนการสอน การฝึกอบรมในด้านต่างๆ
            บทบาทและหน้าที่ของสถาบันการศึกษา คือ ส่งเสริมให้สมาชิกในสังคมเกิดความเจริญงอกงามในด้านต่างๆ เช่น ด้านวิทยาศาสตร์ ด้านการวิจัย เป็นต้น ส่งเสริมให้บุคคลเป็นคนดี มีศีลธรรม มีค่านิยมที่ดีงาม รู้จักสิทธิหน้าที่ที่ตนพึงปฏิบัติต่อสังคมและประเทศชาติ รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและการปฏิรูปสังคม
            เบื้องต้นการอบรมขัดเกลาสมาชิกของสังคมเป็นหน้าที่ของครอบครัว ส่วนการจัดการการศึกษาเพื่อให้เยาวชนมีความรู้ มีคุณธรรมและวิชาชีพต่างๆเพื่อจะได้นำไปใช้ในการดำเนินชีวิตส่วนใหญ่จะเป็นหน้าที่ของรัฐและเอกชนจัดการให้ โดยจะจัดเป็นโรงเรียนที่มีครูอาจารย์และเจ้าหน้าที่ร่วมมือในการจัดการศึกษาให้กับเยาวชน
            3.5 สถาบันศาสนา
สถาบันศาสนา คือ แบบแผนการคิดและการกระทำของสถาบันที่เกี่ยวพันระหว่างสมาชิก ของสังคมกับนักบวช คำสอน ความเชื่อ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ อำนาจที่นอกเหนือธรรมชาติ และกฎเกณฑ์ทางศีลธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมของสังคม การนับถือศาสนาจะเกี่ยวพันกับการดำเนินชีวิตของคนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างงยิ่งในโอกาสสำคัญต่างๆของชีวิต หรือช่วงเวลาที่ผ่านพ้น จากสถานภาพหนึ่งไปยังอีกสถานภาพหนึ่งบทบาทและหน้าที่ของสถาบันสังคมคือ เป็นศูนย์รวมความศรัทธา สร้างแบบแผนแนวทางการดำเนินชีวิตของสมาชิกในสังคม
3.6  สถาบันนันทนาการ
สถาบันนันทนาการ คือ แบบแผนการคิดและการกระทำที่เกี่ยวข้องกับการพักผ่อนหย่อนใจ หลังจากการทำงานที่เหน็ดเหนื่อยของคนในสังคม เพื่อให้การดำรงชีวิตมีความสุขสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
บทบาทและหน้าที่ของสถาบันนันทนาการ คือการทำให้คนในสังคมผ่อนคลายความตึงเครียดเพิ่มพูนอนามัยที่ดี ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ในทางสร้างสรรค์ต่างๆ รวมทั้งสนองความต้องการทางสังคม ในรูปแบบความบันเทิงต่างๆ เช่น ศิลปะ  การละเล่น การกีฬา เป็นต้น โดยผลที่ตามมานอกจากความผ่อนคลาย ความเพลิดเพลินใจแล้ว ก็คือทำให้มีละคร ภาพยนตร์ งานบันเทิง มหรสพ คนตรี ฟ้อนรำ ขึ้นมาในสังคม
สถาบันนันทนาการจำเป็นทีจะต้องมีบุคคลวิธีการสำหรับดำเนินการ และการฝึกฝนเป็นระยะเวลานานจนเกิดความชำนาญจนทำให้การแสดงสมจริง สามารถสร้างความเพลิดเพลินบันเทิงใจแก่คนทั่วไปได้ ดังนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างศิลปิน ผู้จัดการ และคนดูทั่วไปจึงเกิดขึ้น และสอดคล้องกันและกัน
3.7 สถาบันสื่อสารมวลชน
สถาบันสื่อสารมวลชน คือแบบแผนการสื่อสารระหว่างบุคคลในสังคมที่มีการขยายตัวกว้างใหญ่ขึ้น ครอบคลุมอำเภอ จังหวัด ประเทศ และโลก โดยแบบแผนดังกล่าวเกิดขึ้นเพื่อลดข้อจำกัดในแง่ของระยะทางและเวลา ในรูปของหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ และอินเทอร์เน็ต
บทบาทและหน้าที่ของสถาบันสื่อสารมวลชน คือ การส่งข่าวสาร นำเสนอความคิดเห็นของประชาชนออกไปสู่สาธารณชนเพื่อให้รับรู้ข่าวสารทันกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตรวจสอบการทำงานของบุคคลและกลุ่มคนที่ทำงานเพื่อส่วนรวม เช่น นักการเมือง ข้าราชการ ให้มีความโปร่งใส ยุติธรรม และเป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองมากที่สุด นอกจากนี้ สื่อมวลชนยังมีหน้าที่ถ่ายทอดวัฒนธรรมให้ความบันเทิงและช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตแก่ผู้รับสารในปัจจุบัน
นอกจากนี้ สถาบันสื่อสารมวลชนยังทำหน้าที่ให้ความรู้แก่ประชาชนทุกเพศทุกวัยในแขนงต่างๆ โดยยปัจจุบันสื่อมวลชนได้ผลิตสื่อออกมาหลายรูปแบบมากขึ้น เช่น รูปแบบของสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่บรรจุเนื้อหาสาระของความรู้ทุกแขนงสู่ประชาชนโดยไม่จำกัดเวลา สถานที่ เพศ และวัย เป็นต้น ทำให้สังคมปัจจุบันกลายเป็นสังคมแห่งความรู

อ้างอิง https://sites.google.com/site/30261bambuckk/sthaban-thang-sangkhm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น